') //-->
หนึ่งในความขัดแย้งระหว่างชีอะฮฺและซุนนะฮฺคือคือ การทำวุฎูอฺ ซึ่งประเด็นนี้นอกจากจะเป็นความขัดแย้งในทางปฏิบัติแล้ว ยังได้กลายเป็นความรังเกียจ และการกลั่นแกล้งกันระหว่างสองแนวทางอย่างเห็นได้อย่างชัดเจน ที่สำคัญได้กลายเป็นปัญหาความแตกแยกระหว่างทั้งสอง ดังนั้นสิ่งที่สามารถยุติข้อสงสัยได้ดีที่สุดคือ อัล-กุรอานและฮะดีซของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) อัล-กุรอานกล่าวว่า
يَا أَيُّهَا الَّذِيْنَ آمَنُوْا إِذا أَقَمْتُمْ إِلَى الصَّلاَةِ فَاغْسِلُوا وُجُوهَكُمْ وَ أَيْدِيَكُمْ إِلَى المَرَفِقِ وَ امْسَحُوْا بِرُؤُوسِكُمْ وَأَرْجُلَكُمْ إِلَى الْكَعْبَيْنِ
ผู้ศรัทธาทั้งหลาย เมื่อสูเจ้ายืนขึ้นจะไปนะมาซ ดังนั้นจงล้างหน้าของสูเจ้า และมือของพวกเจ้าถึงข้อศอก และจงลูบศีรษะของสูเจ้า และเท้าของสูเจ้าถึงตาตุ่มทั้งสอง และหากสูเจ้ามีญะนาบะฮฺ ก็จงชำระร่างกายให้สะอาด และถ้าสูเจ้าป่วย หรืออยู่ในการเดินทาง หรือคนใดในหมู่สูเจ้ามาจากการถ่ายทุกข์ หรือได้สัมผัสผู้หญิง แล้วสูเจ้าไม่พบน้ำ ดังนั้นจงทำตะยัมมุมด้วยดินที่สะอาด และจงลูบหน้าของสูเจ้า และมือของสูเจ้า ด้วยดิน อัลลอฮฺไม่ทรงประสงค์ที่จะสร้างความลำบากใด ๆ แก่สูเจ้า แต่ทว่าทรงประสงค์ที่จะชำระสูเจ้าให้สะอาด และเพื่อทรงให้ความโปรดปรานของพระองค์ครบถ้วนแก่สูเจ้า เพื่อสูเจ้าจะด้ขอบคุณ[๑]
โองการข้างต้นกล่าวว่าอวัยวะ ๔ ที่ต้องทำวุฎูอฺ (ใบหน้า แขนทั้งสอง ศีรษะ และเท้าทั้งสอง) ซึ่งอวัยะแต่ละส่วนได้ถูกกำหนดให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้
๑. ใบหน้า อัล-กุรอานกล่าวว่า เมื่อสูเจ้ายืนขึ้นจะไปนะมาซ ดังนั้นจงล้างหน้าของสูเจ้า แต่อัล-กุรอานไม่ได้บอกวิธีการล้างว่าจะต้องล้างอย่างไร ขอบเขตของใบหน้าจากไหนถึงไหน แต่อย่างไรก็ตามประเด็นดังกล่าวไม่มีความขัดแย้งกันระหว่างทั้งสองฝ่าย
๒. แขนทั้งสอง อัล-กุรอานกล่าวว่า และมือของพวกเจ้าถึงข้อศอก ตรงนี้อัล-กุรอานไม่ได้กำหนดเช่นกันว่าต้องล้างจากด้านบนลงสู่ด้านล่าง หรือต้องล้างจากด้านล่างสุ่ด้านบน เพราะคำว่า อิลา ในภาษาอาหรับอธิบายขอบเขตว่าจากไหนถึงไหน แต่ไม่ได้อธิบายวิธีการว่าต้องทำอย่างไร ดังนั้น จากคำว่า อิลา จึงไม่อาจเข้าใจได้ว่าต้องล้างจากด้านล่าง ไปสู่ด้านบน เหมือนกับเราได้สั่งช่างทาสีว่า จงทาสีกำแพงถึงเพดาน ช่างทาสีเข้าใจอย่างไร หรือคำพูดของเรามีความหมายว่าอย่างไร ฉะนั้น จุดประสงค์คือการทาสีกำแพงให้ทั่วจนถึงเพดาน ไม่ได้สื่อว่าช่างทาสีต้องทาสีจากด้านล่างไปจนถึงเพดาน อัล-กุรอานได้ให้ความหมาย อิลา ว่าหมายถึง มะอะ [๒]ดังนั้น โองการจึงหมายถึง จงล้างมือกับข้อศอก
มัซฮับทั้งสี่ของอะฮฺลิซซุนนะฮฺ เชื่อว่าโองการไม่ได้อธิบายการล้างมือว่าต้องล้างจากด้านล่าง ไปสู่ด้านบน หรือต้องล้างมือซ้ายก่อนมือขวา ดังนั้นไม่ว่าท่านจะทำวุฎูอฺอย่างไรไม่มีความแตกต่าง ทว่าดีกว่าให้ท่านปฏิบัติเช่นนี้คือ {من الأصابع إلى المرافق} เริ่มล้างมือขวาตั้งแต่ปลายนิ้วมือไปจนถึงข้อศอก ฉะนั้น จะเห็นว่าการล้างจากด้านล่างไปสู่ด้านบนไม่เป็นวาญิบ
ส่วนชีอะฮฺผู้ปฏิบัติตามแนวทางของอะฮฺลุลบัยตฺ (อ.) ผู้ที่ทำหน้าที่อธิบายซุนนะฮฺของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) จะล้างจากด้านบนลงสู่ด้านล่าง (จากข้อศอกถึงปลายนิ้ว) ดังที่ทราบกันดีว่าเมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้น ผู้ที่ทำหน้าที่อธิบายข้อขัดแย้ง อัล-กุรอาน และซุนนะฮฺของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้ดีที่สุดคือ ผู้ที่ฮะดีซซะเกาะลัยนฺได้กล่าวถึงพวกเขา ซึ่งมีชนเพียงกลุ่มเดียวที่ฮะดีซดังกล่าวได้กล่าวถึง คือบรรดาอะฮฺลุลบัยตฺ (อ.)[๓] ซึ่งท่านเหล่านั้นได้ยืนยันว่าซุนนะฮฺของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) คือการล้างจากด้านบนลงสู่ด้านล่าง อีกด้านหนึ่งการล้างจากด้านบนลงสู่ด้านล่างเป็นธรรมชาติทั่วไปของมนุษย์ ไม่ใช่ทำขัดกัน
๓. ศีรษะ อัล-กุรอานกล่าวว่า และจงลูบศีรษะของสูเจ้า หมายถึงหลังจากล้างหน้า และแขนทั้งสองแล้วสูเจ้าจงลูบศีรษะ (บิรุอูซิกุม) อักษรบาอฺ ในคำว่าบิรุอูซิกุม ให้ความหมายว่า ตับอีฎ หมายถึงบางส่วนของศีรษะ บรรดาอุละมาอฺฝ่ายชีอะฮฺและซุนนะฮฺ บรรดานักภาษาศาสตร์ และริวายะฮฺมีความเห็นพ้องต้องกัน แต่มีความขัดแย้งกันตรงขนาดที่ต้องทำการลูบ อุละมาอฺฝ่ายชีอะฮฺกล่าวว่า
{ أقل ما يقع عليه اسم المسح}
ส่วนที่ต้องทำการลูบคือบริเวณด้านหน้าของศีรษะ ด้วยเหตุผลที่ว่า มีรายงานจากอิมมะฮฺ (อ.) และความเห็นพ้องต้องกันของบรรดาอุละมาอฺฝ่ายชีอะฮฺ[๔] แต่ในหมู่อะฮฺลิซซุนนะฮฺมี ๑๑ ทัศนะด้วยกัน เช่น อิมามชาฟิอียฺ ได้มีทัศนะตรงกับชีอะฮฺ อะบูฮะนีฟะฮฺ ให้ลูบเท่ากับ ๑ / ๔ ของศีรษะ มาลิกให้ลูบทั้งศีรษะ และท่านอื่น ๆ อีกมากมาย[๕]
๔.เท้าทั้งสอง อัล-กุรอานกล่าวว่า และเท้าทั้งสองของสูเจ้าถึงตาตุ่ม อักษร วาว ในประโยค วะอัรญุละกุม เป็นอักษรอัฏฟฺ หมายถึงเป็นคำสันธาน ดังนั้นสามารถอ่่านได้สองอย่างดังนี้
ถ้าอ่านโดยให้ลามเป็นฟัตฮฺ เช่น {اَرْجُلَكُمْ} เรียกว่าเป็นการอัฏฟฺที่มะฮัล หมายถึง นำคำว่า อัรญุละกุม ไปเชื่อมกับคำว่า รุอูซะกุม (ศีรษะของท่าน) ซึ่งคำนี้อยู่ในฐานะของกรรมจึงอ่านว่า รุอูซะกุม แต่เนื่องจากว่ามีอักษรบาอฺ (กฏภาษาอาหรับถือว่าเป็นฮุรูฟญัร มีหน้าที่ให้ญัร-กัซเราะฮฺ-แก่คำนาม หมายถึงเมื่อเข้าบนคำนามใด คำ ๆ นั้นต้องอ่านเป็นกัซเราะฮฺ เช่น {بِرُؤُوسِكُمْ} ซึ่งในความเป็นจริงต้องอ่านว่า {رُؤُوسَكُمْ} ดังทีกล่าวไปแล้วเนื่องจากว่ามี บาอฺ เข้ามาจึงต้องอ่านว่า บิรุอูซิกุม
หรืออ่านโดยให้ลามเป็นกัซเราะฮฺ เช่น {اَرْجُلِكُمْ} หมายถึงให้ลามอัฏฟฺบนคำว่า บิรุฮูซิกุม ซึ่งการอ่านแบบแรก (ให้ลามเป็นฟัตฮฺ) เป็นการอ่านของนาฟิอฺ อิบนิอามิร กะซาอียฺ และฮัฟซฺ ส่วนคนอื่นอ่านโดยให้ลามเป็นกัซเราะฮฺ ด้วยเหตุนี้การอ่านทั้ง ๒ ประเภท จึงเป็นวาญิบต้อง ลูบหรือเช็ดเท้่าไม่ใช่ล้าง ดังนั้นการล้างเท้าขณะทำวุฎูอฺจึงขัดแย้งกับอัล-กุรอาน
การที่พี่น้องอะฮฺลิซซุนนะฮฺนำเอาคำว่า อัรญุละกุม ไปเชื่อมกับคำว่า อัยยิดะกุม
ประการที่ ๑ การอัฏฟฺ (เฃื่อม) ประเภทนี้ไม่อนุญาต เนื่่องจากเป็นสาเหตุทำให้เกิดความห่าง ประโยคที่เป็นกิริยา (ญุมละฮฺฟิอฺลียะฮฺคือ وامسحوا برؤسكم) ระหว่างมะอฺฏูฟ กับมะฮฺฏูฟุนอะลัยฮิ ซึ่งการทำเช่นนี้ตามกฎภาษาอาหรับถือว่าไม่ถูกต้อง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการการนำสิ่งนี้สัมพันธ์ไปยังอัล-กุรอาน
ประการที ๒ การอัฏฟฺบนมะฮัล (สถานที่) ในภาษาอาหรับถูกต้องและเป็นสิ่งที่ดี เช่น กล่าวว่า ليس هذا بعالم و لا عالما } { ซึ่งตรงนี้คำว่า อาลิมัน นั้นอัฏฟฺบนมะฮัล (เชื่อมบนที่ของ บิอาลิม) ซึ่่งที่ของบิอาลิมนั้นเป็นนัซบฺ (อาลิมัน) ซึ่งการทำเช่นนี้เป็นที่ยอมรับกันในหมู่ของนักภาษาศาสตร์ไม่เกี่ยวข้องกับโครงกลอนอย่างไร[๖]
ตามปรากฏภายนอกของโองการที่ได้อ่านทั้งสองลักษณะไม่ได้เฉาะเจาะจงว่า เป็นทัศนะของชีอะฮฺอย่างเดียว ทว่านักตัฟซีรของอะฮฺลิซซุนนะฮฺก็มีทัศนะเหมือนกับชีอะฮฺเช่นกัน กล่าวคือยอมรับว่าเป็นวาญิบต้องเช็ดเท้าทั้งสอง ไม่ใช่ล้าง[๗]
หลักฐานฮะดีซฝ่ายชีอะฮฺและซุนนะฮฺที่สนับสนุนการเช็ดเท้าในการทำวุฎูอฺมีดังนี้
ริวายะฮฺชีอะฮฺ จากหนังสือวะซาอิลุชชีอะฮฺ เล่มที่ ๑ กิตาบเฏาะฮาเราะฮฺ หมวดที่ ๒๕ หมวด วุฎูอฺ
หลักฐานอ้างอิงฝ่ายอะฮฺลิซซุนนะฮฺ เช่น
๑. มุซนัดอะฮฺมัด เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๖๗ , ๑๐๘,๑๕๗ พิมพ์ที่ดารุลฟิกรฺ
๒. กันซุลอุมาล เล่มที่ ๙ หน้าที่ ๔๔๘ ฮะดีซที่ ๒๖๙๐๘ มุอัซซะซะฮฺ อุลูมกุรอาน
๓. ซุนัน อิบนิ ดาวูด เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๔๒ ฮะดีซที่ ๑๖๔ ดารุลอิฮฺยา อุึตตุรอซิลอะเราะบี
๔. อัล ฆอรอต คัดลอกมาจาก อะมาลียฺ เชคมุฟีด
๕. ฏ็อบรียฺ ตัฟซีรฏ็อบรียฺ เล่มที่ ๖ หน้าที่ ๘๒
๖. กุรฏุบียฺ อัล ญามิอฺ ลิอะฮฺกามิลกุรอาน เล่มที่ ๖ หน้าที่ ๙๒
๗. ฟัครุร รอซียฺ ตัฟซีร อัลกะบีร เล่มที่ ๑๑ หน้าที่ ๑๖๑
๘. อิบนิ ฮิซัม อัลมะฮัลลียฺ เล่มที ๒ หน้ที่ ๕๙
ตัวอย่างริวายะฮฺจากตำราอ้างอิงฝ่ายอะฮฺลิซซุนนะฮฺ บุคอรียฺ ได้บันทึกไว้ในหนังสือปรวัติของตน อะฮฺมัด บิน อะบีชัยบะฮฺ อิบนิ อุมัร อัลบัฆวัยฺ ฏ็อบรอนียฺ บาวัรดียฺ และคนอื่น ๆ ซึ่งรายงานมาจาก อะบี เซาดฺ จาก อิบาด บิน ตะมีม อัลมาซันนี จากบิดาของเขา ว่า
رأيت رسول الله صل الله عليه وسلم : يتوَّضأ و يمسح الماء على رجليه[๘]
ฉันเห็นท่านศ่าสดา (ซ็อล ฯ) ทำวุฎูอฺ โดยท่านได้เช็ดเท้าของท่าน
ริวายะฮฺดังกล่าวได้บันทึกนามของเซาะฮาบะฮฺจำนวนมากไว้ ซึ่งท่านเหล่านั้นถือว่าเป็นวาญิบต้องเช็ดเท้าขณะทำวุฏอฺ เช่น ท่านอิบนิ ฮิซัม กล่าว่า
و قد قال بالمسح على الرجلين جماعة من السلف منهم على بن أبي طالب و ابن عباس والحسن و عكرمه والشعبي و جماعة غيرهم
กล่าวว่า แน่นอนการเช็ดเท้าทั้งสองข้าง (ขณะทำวุฎูอฺ) เป็นการกระทำของชนรุ่นแรก เช่น ท่านอะลี บิน อะบีฏอลิบ อิบนุอับบาซ ฮะซัน อิกเราะมะฮฺ ชุอฺบียฺ และอีกกลุ่มหนึ่งที่นอกเหนือจากคนเหล่านี้
ใครคือคนสั่งให้ล้างเท้าเวลาทำวุฎูอฺ
หลักฐานที่มั่นคงทั้งจากอัล-กุรอาน ฮะดีซ และประวัติศาสตร์จำนวนมากมายได้ยืนยันว่า เป็นวาญิบต้องเช็ดเท้าขณะทำวุฎูอฺ แต่ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นการล้างเท้าแทนการเช็ด ใครเป็นผู้สั่งให้ทำเช่นนี้ หรืออีกนัยหนึ่งใครเป็นผู้เปลี่ยนแปลงการเช้ดให้เป็นการล้าง
จากตำราของฝ่ายอะฮฺลิซซุนนะฮฺ เช่น กันซุลอุมาล เล่มที่ ๙ หน้าที่ ๔๔๑ ฮะดีซที่ ๒๖๘๘๘๓ บันทึกว่า อุซมาน เคาะลิฟะฮฺที่ ๓ ได้สั่งให้ประชาชนมารวมกัน และได้ทำวุฏูอฺให้ประชาชนดู ท่านได้เอามือขวาจุ่มลงในภาชนะ และวักน้ำมารดมือซ้ายโดยล้างถึง ๓ ครั้ง ได้บ้วนปาก ๓ ครั้ง ล้างจมูก ๓ ครั้ง หลังจากนั้นจึงล้างหน้า ๓ ครั้ง ล้างแขนจนถึงข้อศอก ๓ ครั้ง หลังจากนั้นได้เช็ดศีรษะ และล้างเท้าอย่างดี เมื่อเสร็จแล้วกล่าวว่า ฉันเห็นท่านศาสดาทำวุฎูอฺเช่นนี้
บรรดามุสลิมก่อนหน้าเคาะลิฟะฮฺอุซมาน ได้ทำวุฎูอฺเหมือนกันทั้งหมดเหมือนที่ชีอะฮฺทำอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งการทำของชีอะฮฺสอดคล้องกับโองการวุฎูอฺที่กว่า จงเช็ดศีรษะของสูเจ้า และเท้าของสูเจ้า { وَامْسَحُوا بِرُؤُو سِكُم وَ أَرْجُلَكُمْ } โองการดังกล่าวจะสังเกตเห็นว่่าอัลลอฮฺ (ซบ.) ได้สั่งให้เช็ดศีรษะและเท้า ขณะที่ปัจจุบัจพี่น้องอะฮฺลิซซุนนะฮฺทั้งหมดล้างเท้าแทนการเช็ด ซึ่งสาเหตุที่เปลี่ยนจากเช้ดมาเป็นล้าง เนื่องจากว่าในช่วงกลางสมัยปกครองของอุซมานเคาะลิฟะฮฺที่ ๓ ได้เกิดความคลางแคลงใจเรื่องการทำวุฏุอฺของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) อุซมานจึงได้แสดงให้ประชาชานได้เห็นและกล่าวว่าท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้ทำวุฎูอฺเหมือนที่อะฮฺลุซซุนนะฮฺได้ทำอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้มีเซาะฮาบะฮฺจำนวนมากคัดค้าน และแสดงความไม่เห็นด้วย ประกอบกับหลังจากเคาะลิฟะฮฺอุซมานได้จากไป ราชวงศ์อุมัยยะฮฺได้ขึ้นมาปกครองแทน ซึงจุดประสงค์การเมืองของพวกเขาคือ การทำสิ่งที่ขัดแย้งกับอิสลามพวกเขาจึงได้ยึดแนวทางของอุซมานและทำการเผยแผ่อย่างกว้างขวาง แม้ว่าจะมีเซาะฮาบะฮฺจำนวนมากไม่เห็นด้วย แต่ไม่มีใครสามารถทำอะไรได้ ซึ่งบรรยากาศการปกครองในยุคนั้นอำนาจอธิปไตยเป็นของผู้ปกครองแต่เพียงฝ่ายเดียว จึงทำให้ไม่มีเซาะฮาบะฮฺคนใดกล้าขัดแย้ง อันเป็นเหตุทำให้วุฎูอฺตามแบบฉบับของอุซมานถูกปฏิบัติมาจนถึงปัจจุบน[๙] ยกเว้นบรรดาอะฮฺลุลบัยตฺ (อ.) และชีอะฮฺเท่านั้นที่ไ่ม่ปฏิบัติตามซุนนะฮฺของอุซมาน แต่ได้ยึดปฏิบัติตามซุนนะฮฺของท่านศาสดาอย่างเคร่งครัดจวบจนปัจจุบัน
การล้างเท้าสะอาดกว่าการเช็ดไม่ใช่หรือ
มีคำพูดกล่าวอ้างว่า การล้างเท้าในวุฎูอฺนั้นสะอาด และถูกสุขอานามัยมากกว่าการเช็ด ซึ่งคำกล่าวอ้างเช่นนี้ไม่ถูกต้องเนื่องจากว่า
๑. เราไม่สามารถกล่าวอ้างบางอย่างที่ขัดแย้งกับคำสั่งของอัล-กุรอานได้เด็ดขาด เพราะอัล-กุรอานสั่งให้เช็ดไม่ใช่ล้าง
๒. ปรัชญาของวุฏูอฺไม่ใช่เพื่อความสะอาดหรือสุขอานามัยอย่างเดียว แต่ยังมีปรัชญาอื่นแฝงอยู่อีกมากมาย ดังนั้น ถ้าปรัชญาของวูฎูอฺเพื่อความสะอาดอย่างเีดียว ทำไมหลังจากอาบน้ำเสร็จถ้าต้องการนะมาซ ไม่สามารถนะมาซได้ต้องทำวุฎูอฺก่อน
๓. ความสะอาด และสุขอานามัยเป็นสิ่งจำเป็นไม่ว่าท่านต้องการทำวุฎูอฺหรือไม่ท่านต้องล้างเท้า หรือก่อนหรือหลังวุฎูอฺท่านสามารถล้างเท้าได้ แต่วุฏูอฺท่านต้องเช็ดเท้า ซึ่งการล้างเท้าไม่เกี่ยวข้องกับปรัชญาของวุฎูอฺแต่อย่างใด
อะฮฺลิซซุนนะฮฺอธิบายการล้างเท้าในการทำวุฎูอฺว่าอย่างไร
มีคำถามหนึ่งคือ ทำไมอะฮฺลิซซุนนะฮฺจึงปฏิบัติขัดแย้งกับสิ่งที่ตนยอมรับ จากหลักฐานที่กล่าวมาจะเห็นว่า อะฮฺลิซซุนนะฮฺยอมรับว่าในการทำวุฎูอฺเป็นวาญิบต้องเช็ด ไม่ใช่ล้าง แต่พวกเขามีเหตุผลอะไรจึงล้างแทนการเช็ด เพื่อความเข้าใจขอยกคำพูดของนักปราซญ์อะฮิลิซซุนนะฮฺบางท่าน เช่น
ซะมัคชะรียฺ ได้กล่าวไว้ในตัฟซีรของตนว่า เท้าเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งที่ต้องล้างเมื่อทำวุฏูอฺ ดังนั้นจะเห็นว่ามีการฟุ่มเฟือยในการใช้น้ำมาก อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงประสงค์ที่จะห้ามการฟุ่มเฟือย พระองค์จึงได้ตรัสโดยให้ {اَرْجُلَكُمْ} เชื่อมกับคำว่า {بِرُؤُوسِكُمْ} โดยมีเจตนาเพื่อห้ามการฟุมเฟือยในการใช้นำ้ ไม่ใช่ให้เช็ดเท้า[๑๐]
ตอบข้อกล่าวอ้าง ถ้าพูดถึงการฟุ่มเฟือยการล้างหน้า และมือก็เป็นไปได้ที่อาจฟุ่มเฟือย ดังนั้น การกล่าวอ้างว่าอัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงประสงค์ที่จะป้องกันการฟุ่มเฟือยจึงไม่สอดคล้องกับอัล-กุรอาน
คำกล่าวอ้าง ถ้าพิจารณาจะเห็นว่าหลังจากคำว่า {اَرْجُلَكُمْ} พระองค์ได้วางเงื่อนไขว่า
{الى الكعبين}ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึง วาญิบในการล้าง ซึ่งสัญลักษณ์ดังกล่าวสามารถอธิบายได้ดังนี้
อิลา ในที่นี้อธิบายขอบเขต แน่นอนถ้าเป็นการอธิบายขอบเขตนั่นย่อมบ่งบอกถึงการล้างไม่ใช่การเช็ด จุดประสงค์ของพวกเขาเนื่องจากประโยคที่ว่า { أيدكم إلى المرافق } ถูกกำหนดขอบเขตด้วยคำว่า อิลา ขณะที่ประโยค {أرجلكم إلى الكعبين}ก็ถูกกำหนดขอบเขตด้วยคำว่า อิลา เช่นกัน ดังนั้น ทั้งสองจึงอยู่ในกฏเดียวกันคือการล้าง[๑๑]
ตอบข้อกล่าวอ้าง ตามที่กล่าวว่า อิลา อธิบายถึงขอบเขตนั้น ลองพิจารณาประโยคแรกซึ่งกล่าวถึงการล้าง ตรงนี้สามารถเข้าใจได้จากกิริยาในประโยคที่ว่า ดังนั้นจงล้าง {فاغسلوا} ไม่ได้เข้าใจจากคำว่า อิลา ดังนั้น คำว่าอิลาจึงไม่ได้เป็นสัญลักษณ์ของการล้างแต่อย่างใด ส่วนประโยคที่สอง การเช็ด เข้าใจได้จากกิริยาในประโยคเช่นกันคือ วัมซะฮู ซึงทั้งสองประเด็นนักตัฟซีรอะฮฺลุิซซุนนะฮฺเองก็ยอมรับ[๑๒]
ข้อกล่าวอ้าง มุฮัมมัด เราะชีด ริฎอ ได้บันทึกไว้ในตัฟซีรอัล-มินาร[๑๓] ว่า วาญิบต้องเช็ดถือว่าไม่เข้ากับสติปัญญา เนื่องจากว่าการเช็ดต้องมือที่เปียกไปเช้ดเท้าที่สกปรกเปื้อนฝุ่นและดิน นอกจากจะไม่ทำให้สะอาดแล้วยังทำให้มือเปื้อนอีกต่างหาก แน่นอนการทำเช่นนี้ย่อมขัดแย้งกับกฏของวุฎูอฺที่ตั้งไว้เพื่อการรักษาความสะอาด
ตอบข้อกล่าวอ้าง อวัยวะที่ต้องทำวุฎูอฺเป็นมุซตะฮับให้ชำระล้างให้สะอาดก่อนทำวุฎูอฺ ดังนั้น ไม่น่าจะมีปัญหากับการเช็ดแต่อย่างใด
- อนุญาตให้ล้างมือและเท้าหลังจากทำวุฎูอฺเสร็จแล้ว ซึ่งเป็นมุซตะฮับควรนะมาซด้วยร่างกายและเสื้อผ้าที่สะอาด ดังนั้นเป็นไปได้อย่างไรที่ว่าขณะที่ทำวุฎูอฺเท้าจะเปื้อนฝุ่นและดิน
- กฏของวุฎูอฺไม่ใช่เพื่อความสะอาดเพียงอย่างเดียว เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นทำไมต้องทำเป็นขั้นตอน และต้องเนียตเพื่อแสวงหาความใกล้ชิดด้วย
- เจ้าของตัฟซีรมะนารกล่าวว่า เหตุผลหักล้างเหตุผลของชีอะฮฺที่แข็งแรงที่สุดคือ การสิ้นสุดของเท้าด้วยประโยคที่ว่า อิลัลกะอฺบัยนฺ ซึ่งสิ่งนี้นอกจากการล้างเป็นอย่างอื่นไม่ได้เด็ดขาด
- คำตอบ จุดประส่งค์ของคำว่า กะอฺบัยนฺ ในทัศนะชีอะฮฺคือ โหนกหลังเท้าและกระดูกบริเวณข้อเท้า ดังนั้น เมื่อกะอฺบัยนฺหมายถึงสิ่งที่กล่าวมา ทำไมจะเช้ดไม่ได้ หรือเขาคิดว่าถ้าหากเช็ดและก่อนที่จะถึงกะอฺบัยนฺน้ำจะแห้งเสียก่อนกระนั้นหรือ
- อิบนิฮิซัม อัล มะฮัลลียฺ[๑๔] กล่าวว่า แม้ว่าอัล-กุรอานและริวายะฮิจำนวนมาก จะบ่งบอกว่าเป็นวาญิบต้องเช็ดก็ตาม แต่มีริวายะฮฺบางบทได้นัซคฺ (ยกเลิก) อัล-กุรอานและริวายะฮฺเหล่านั้น และริวายะฮฺอื่นกล่าวว่า ขณะเดินทางพวกเราได้แยกออกจากท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) และได้ทำวุฎูอฺและได้เช็ดศีรษะและเท้า ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้ตะโกนเสียงดังถึง ๓ ครั้งว่า ขอความพินาศแก่เท้าที่ออกมาจากไฟนรก[๑๕]
- คำตอบ ริวายะฮฺเหล่านี้ได้พิสูจน์ถึง การเป็นวาญิบต้องเช็ด เนื่องจากเป็นไปได้อย่างไรที่เซาะฮาบะฮฺของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) จะทำวุฎูอฺไม่เป็น แน่นอนพวกเขาได้ทำวุฎูอฺอย่างถูกต้องเนื่องจากวุฎูอฺต้องทำทุกวัน ๆ ละหลายครั้งและได้เห็นท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ทำวุฎูอฺด้วยตาตนเอง
ประกอบกับหลักการยกเลิก (นัซคฺ) ริวายะฮฺไม่สามารถยกเลิกอัล-กุรอานได้
การที่ท่านศาสดาตะโกนด้วยเสียงดังถึง ๓ ครั้ง เนื่องจากพวกเขาไม่ใส่ใจต่อเงื่อนไขของวุฎูอฺต่างหาก เช่น เป็นไปได้ที่เ้ท้าของพวกเขาอาจจะเปื้อนนะยิซและพวกเขาได้เช็ดเ้ท้าในสภาพเช่นนั้น ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) จึงได้ร้องห้ามปรามพวกเขาว่าอย่าทำเช่นนั้น ซึ่งสิ่งนี้เป็นไปได้เนื่องจากนิสัยดั้งเดิมของอาหรับนิยมยืนปัสสาวะ และปัสสาวะได้กระเด็นไปเปอะเปื้อนเท้า ดังนั้น ถ้าไม่ชำระล้างนะยิซที่เท้าเสียก่อนและได้เช้ดเท้าในสภาพเช่นนั้นแน่นอนวุฏูอฺบาฏิล[๑๖]
[๑]อัล มาอิดะฮฺ / ๖
[๒]อับดุรเราะฮฺมาน อัล ญะรียฺรียฺ อัลฟิกฮฺ อะลัลมะซาฮิบิล อัรบะอะฮฺ เล่มที่ ๑ หน้า ๕๓, ฮิลลียะตุลอุละมาอฺ ฟี มะอฺริฟะติน มะซาฮิบิล ฟุเกาะฮาอฺ เล่มที่ ๑ หน้า ๑๔๕
[๓]วะซาอิลุชชีอะฮฺ เล่มที่ ๑ หมวดที่ ๑๙ หน้า ๒๘๕
[๔]กันซุล อิรฟาน ฟี ฟิกฮิลกุรอาน เล่มที่ ๑ หน้า ๑๐
[๕]เล่มเดิม อิบนิอาเราะบี อะฮฺกามุลอุรอาน
[๖]อิบนิฮิชาม มุฆนี ระบีบ
[๗]ตัฟซีรกะบีร ฟัครุรรอซียฺ เล่มที่ ๑๑ หน้าที่ ๑๖๑ ตอนอธิบายโองการดังกล่าว
[๘]กันซุล อิรฟาน ฟี ฟิกฮิล กุรอาน เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๑๔
[๙]ศึกษาเพิ่มเติมได้จาก หนังสือของ ชะฮฺริซตานียฺ บาบ วุฎูอฺ นะบี มิน คิลาลิ มะลาบิซาต อัตตัชรีอฺ
[๑๐]ซะมัคชะรียฺ อัล กิชาฟ เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๓๒๖ ตอนอธิบายโองการวุฎูอฺ
[๑๑]ฟัครุร รอซียฺ ตัฟซีร กะบีร เล่มที่ ๑๑ หน้าที่ ๑๖๒ , อัล กุรฏุบียฺ อัล ญามิอฺ ลิอะฮฺกามิลกุรอาน เล่มที่ ๖ หน้าที่ ๙๑ ดารุลฟิกรฺ
[๑๒]อิบนิ ฮิซัม อัลมะฮัลลียฺ เล่มที่ ๒ หน้ที่ ๕๖ ข้อที่ ๒๐๐ ดารุล อาฟาก อัล ญะดีดะฮฺ เบรูต
[๑๓]เล่มที่ ๖ หน้าที่ ๒๓๔
[๑๔]เล่มที่ ๒ หน้าที่ ๕๗ ข้อที่ ๒๐๐
[๑๕]มุฮัมมัดอิสมาอีล เซาะฮียฺบุคอรียฺ เล่มที่ ๑ กิตาบุลอิลมฺ หน้าที่ ๑๘ บาบ มัน เราะฟะอะ เซาตะฮู พิมพ์ที่ อับดุลฮะมีด อะฮฺมัด ฮะนะฟียฺ อียิปต์
[๑๖]เฏาะบัรเราะซียฺ มัจมะอุลบะยาน เล่มที่ ๒ หน้าที่ ๒๕๘ ตอนอธิบายโองการวุฎูฮฺ ดารุลฟิกรฺ